ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่าของชาวล้านนา ที่สืบทอดกันมายาวนาน

คนทางภาคเหนือนั้นตามธรรมเนียมจะยกย่องญาติผู้ใหญ่เป็นอย่างมาก  หลังจากที่ญาติผู้ใหญ่ได้เสียชีวิตลง ก็จะทำการสร้างศาลเอาไว้ หากลูกหลานมีความไม่สบายใจหรือมีปัญหาต่างๆเข้ามาในชีวิต ก็จะได้ไปทำการกราบไหว้และบอกกล่าวสิ่งที่เป็นปัญหาเพื่อให้ผีปู่ย่าช่วยเหลือได้

ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า คืออะไร?

ประเพณีการเลี้ยงผีปู่ย่า เป็นประเพณีของทางล้านนา ประเพณีนี้จัดขึ้นเพื่อเป็นการทำบุญและกราบไหว้บรรพบุรุษ หรือผีประจำตระกูล ซึ่งมีความเชื่อกันว่าเมื่อปู่ ย่า ตา ยาย ได้เสียชีวิตไปแล้วดวงวิญญาณจะยังคงวนเวียนเพื่อปกปักรักษาลูกหลานอยู่ ดังนั้นลูกหลานก็จะทำการสร้างศาลเอาไว้บริเวณเบื้องทิศหัวนอน หรือทำการสร้างไว้ในบริเวณที่เห็นว่าสมควร บนศาลที่สร้างนั้นจะมีเครื่องบูชาต่างๆ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน อาหารคาวหวาน เพื่อเป็นการบวงสรวงและอัญเชิญดวงวิญญาณผีปู่ย่าเพื่อให้มาสถิตอยู่ที่ศาล เพื่อจะได้ปกป้องรักษาลูกหลานและเครือญาติ

ช่วงที่นิยมเลี้ยงผีปู่ย่า

จะนิยมเลี้ยงผีปู่ย่าในช่วงเดือนเมษายนและเดือนมิถุนายน หากญาติพี่น้องไม่สะดวกในการเดินทางมาช่วงนี้หรืออาจจะอยู่ไกลกัน ก็อาจจะใช้ช่วงของวันปีใหม่หรือวันสงกรานต์ทำการเลี้ยงผีปู่ย่าก็ได้ ถ้ามีความลำบากในการเดินทางมา ก็อาจจะทำพิธีแบ่งผีจากชุมชนเดิม ไปทำการจัดพิธีเลี้ยงผีกับชุมชนใหม่ที่ได้อาศัยอยู่ เมื่อรับผีมาก็เอามาตั้งในหอผีแห่งใหม่ เพื่อชีวิตอยู่เย็นเป็นสุข เพื่อความเป็นสิริมงคล และเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน

ของที่นิยมเลี้ยงผีปู่ย่า

ในแต่ละปีนั้นแล้วแต่จะตกลงกันว่าจะถวายหมูหรือไก่ ถ้าต้องการถวายไก่ก็จะใช้ไก่ต้ม 1 ตัว หากจะถวายหมูก็จะใช้ส่วนหัวของหมู ในช่วงเช้าตรู่พอถึงฤกษ์ยามสำหรับพิธีเลี้ยงผีปู่ย่า ผู้อาวุโสหรือผู้สืบทอดจะกล่าวคำบูชาในการเลี้ยงผี พร้อมกับเครือญาติที่ได้มาร่วมพิธีในการเลี้ยงผีปู่ย่าด้วย ระหว่างที่ทำพิธีนั้นก็จะมีการพนมมือไหว้จนกว่าธูปและเทียนจะดับลง และจะถือว่าผีปู่ย่าได้รับเครื่องเซ่นไหว้นั้นแล้ว หลังงจากที่เสร็จสิ้นพิธีแล้ว ก็สามารถที่จะลาของไหว้ซึ่งก็คือการนำอาหารต่างๆที่ได้เซ่นไหว้ เช่น อาหาร ขนม ผลไม้ นำมาแบ่งปันแจกจ่ายเพื่อรับประทานกับญาติพี่น้อง เพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต หลังจากนั้นภายในงานญาติพี่น้องก็อาจจะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ก็จะเกิดความสนิทสนมในหมู่ของญาติพี่น้องกันมากยิ่งขึ้น

ในยุคปัจจุบันหลายสิ่งหลายอย่างได้เปลี่ยนไป ทั้งความเจริญทางด้านวัตถุ และเทคโนโลยีต่างๆ จึงทำให้ประเพณีเลี้ยงผีนั้นเหลือทำกันในบางพื้นที่เท่านั้น