โรคตับแข็ง สาเหตุ อาการ การป้องกัน และการรักษา

ตับมีหน้าที่ในการกำจัดสารพิษต่างๆ และสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อเป็นการต่อต้านเชื้อโรค หากตับทำงานผิดปกติไป หรือเกิดโรคตับแข็งขึ้น ก็จะส่งผลทำให้ตับมีการทำงานที่ผิดปกติไป ดังนั้นการลดปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

โรคตับแข็ง คืออะไร?

โรคตับแข็ง คือ การที่ตับก่อตัวเนื้อเยื่อผังผืดส่วนเกินขึ้นมา ซึ่งเกิดจากตับอักเสบเรื้อรังจากสาเหตุต่างๆ เช่น ไวรัสตับอักเสบเรื้อรัง ภาวะไขมันคั่งในตับ โรคพิษสุราเรื้อรัง เป็นต้น หากตับมีการอักเสบเรื้อรังนานๆ ตับก็จะซ่อมแซมตัวเอง ในกระบวนการซ่อมแซมนี้เองก็จะเกิดเนื้อเยื่อพังผืดขึ้นบริเวณของตับเรื่อยๆจนทำให้เกิดเป็นโรคตับแข็งขึ้นมา ส่งผลทำให้ตับไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ หากเป็นโรคตับแข็งในระยะท้ายๆก็จะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ นอกจากนี้ยังทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับได้ โรคนี้หากตรวจพบและรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ ก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้โรคมีการลุกลามได้

อาการของโรค

  • มีอาการเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง และอาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย
  • หากเป็นในเพศหญิงประจำเดือนอาจผิดปกติ ในเพศชายเต้านมอาจขยายใหญ่ขึ้นและมีอาการปวด
  • คันตามบริเวณของผิวหนัง ซึ่งเกิดจากสารประกอบน้ำดีฝังอยู่ตามผิวหนัง
  • น้ำสะสมภายในบริเวณของช่องท้อง ส่งผลทำให้ท้องโตขึ้น ซึ่งเป็นอาการที่เรียกว่า ภาวะท้องมาน
  • มีอาการฟกช้ำหรือเลือดออกได้ง่าย
  • เกิดภาวะดีซ่าน มีอาการตัวเหลืองและตาเหลือง เนื่องจากมีการสะสมเม็ดสีของน้ำดีเกิดขึ้น
  • เลือดออกในกระเพาะอาหารอย่างรุนแรง เพราะเลือดมีการไหลเวียนที่ผิดปกติ
  • มีอาการสับสน เกิดอาการทางสมอง ไม่ค่อยมีสมาธิ หลงลืมง่าย เป็นเพราะว่าตับไม่สามารถกรองสารพิษต่างๆออกมาได้
  • เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ง่าย เพราะตับไม่สามารถที่จะกรองยาให้ออกจากเลือดในอัตราที่เป็นปกติ หากรับประทานยาก็จะออกฤทธิ์ได้นานมากขึ้นและจะสะสมภายในร่างกาย

สาเหตุของโรค

  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอร์ปริมาณที่มากจนเกินไปและดื่มเป็นระยะเวลานาน
  • ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ซี และดี
  • ภาวะไขมันคั่งในตับ
  • เป็นดีซ่านซึ่งเกิดจากท่อน้ำดีมีการอุดตัน
  • สาเหตุจากโรควิลสัน ซึ่งจะมีการสะสมของทองแดงในตับมากจนเกินไป
  • ภาวะตับอักเสบเนื่องจากภูมิต้านทานทำงานผิดปกติ
  • การรับประทานยาหรือสมุนไพรบางชนิดที่ส่งผลต่อตับ

การรักษา

  • ทำการประเมินดูระยะของโรค เพื่อตรวจสอบดูภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจเกิดขึ้น เช่น อัลตราซาวด์ดูน้ำบริเวณช่องท้อง ส่องกล้องดูหลอดเลือดขอดบริเวณหลอดอาหาร เป็นต้น
  • รักษาตามสาเหตุของโรค เช่น หยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้ยาต้านไวรัสตับอักเสบชนิดบีหรือซี ให้ยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
  • ผู้ป่วยที่มีอาการท้องมาน ขาบวม ควรลดการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของเกลือ เพราะอาหารเหล่านี้จะส่งผลทำให้บวมมากยิ่งขึ้น
  • ผ่าตัดเปลี่ยนตับ จะมีค่าใช้จ่ายที่สูง และผู้บริจาคตับยังมีจำนวนน้อยอยู่

การป้องกัน

  • หลีกเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้ป้องกัน และหลีกเลี่ยงใช้เข็มร่วมกันกับผู้อื่น เพราะจะมีความเสี่ยงทำให้เกิดไวรัสตับอักเสบบี และไวรัสตับอักเสบซีได้
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เน้นอาหารพวกพืชผัก ผลไม้ ธัญพืช เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน และลดบริโภคอาหารที่มีส่วนประกอบของไขมันให้น้อยลง

พฤติกรรมการใช้ชีวิตนั้นมีส่วนสำคัญในการทำให้เกิดเป็นโรคตับแข็งขึ้นมาได้ ดังนั้นหากไม่อยากเป็นโรคนี้ก็ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทั้งหลาย เช่น งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ลดอาหารหวาน อาหารมัน หลีกเลี่ยงรับประทานยาหรือสมุนไพรโดยที่ไม่จำเป็น ก็จะเป็นการลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคนี้ได้