ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทคืออะไร วัยหนุ่มสาวเสี่ยงเพิ่มขึ้น

ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมักเกิดกับผู้สูงวัยที่มีภาวะเสื่อมของกระดูกข้อต่อบริเวณกระดูกสันหลัง แต่ปัจจุบันกลับพบว่าภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทนั้นเกิดขึ้นกับคนวัยทำงาน วัยหนุ่มสาวได้มากขึ้น ซึ่งส่วนมากเกิดจากพฤติกรรมการนั่ง การยกของด้วยท่าที่ไม่ถูกต้องนั่นเอง วันนี้เรามาดูข้อมูลเบื้องต้น ทั้งอาการ การรักษาร่วมถึงวิธีการป้องกันกันคะ

หมอนรองกระดูกมีลักษณะอย่างไร 

หมอนรองกระดูกสันหลังจะมีลักษณะเป็นถุงแบน ๆ ลักษณะด้านนอกคล้ายยางรถยนต์ ส่วนด้านในจะมีลักษณะคล้ายวุ้น อยู่ระหว่างกระดูกสันหลังแต่ละข้อ ทำหน้าที่เป็นข้อต่อรองรับการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลัง ช่วยรับแรงกระแทก และเพิ่มความยืดหยุ่นของการเคลื่อนไหว 

ภาวะหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท 

คือ เกิดการปลิ้นและโป่งขึ้นของหมอนรองกระดูก จนไปกดทับเส้นประสาทที่อยู่โดยรอบแนวกระดูกไขสันหลัง โดยปกติแล้วหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมักเกิดกับกลุ่มคนอายุมากแต่อาจเกิดในวัยหนุ่มสาวได้หากมีกิจกรรมที่ส่งผลต่อความเสื่อมของหมอนรองกระดูกที่ไวขึ้น เช่น นั่งหรือยืนทำงานที่ไม่ถูกท่า ได้รับอุบัติเหตุที่กระดูกสันหลัง ออกกำลังกายหักโหม และน้ำหนักตัวที่มาก  

อาการ 

อาการขึ้นอยู่กับบริเวณที่ถูกกดทับ ถ้ากดทับที่เส้นประสาทบริเวณคอจะมีอาการปวดคอ บ่า ไหล่ ปวดร้าวลงไปแขนขา  ข้างใดข้างหนึ่ง ชาแขน ล้าขา หรืออ่อนแรงแขนขา แต่ถ้าเกิดการกดทับเส้นประสาทส่วนเอวจะมีอาการปวดบริเวณเอว ร้าวลงสะโพกและขากล้ามเนื้อขาอ่อนแรง กระดกข้อเท้าหรือนิ้วโป้งเท้าไม่ขึ้น หากมีอาการรุนแรงจะชาไปรอบๆ ก้น และขับถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะลำบาก 

แนวทางการรักษา 

โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการที่เป็นอยู่ โดยเริ่มจากพักการใช้งานหลีกเลี่ยงการทำงานหนักหรือกิจกรรมที่ต้องใช้งานส่วนคอและเอวรุนแรงร่วมกับการทานยา ทำกายภาพบำบัด ในกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจต้องผ่าตัด 

การป้องกัน 

1.ไม่ยกของหนัก หรือยกของในท่าเดิม ๆมากเกินไป ปรับเปลี่ยนอิริยาบถในการทำงานทุก ๆ 2 – 3 ชั่วโมง 

2.หมั่นบริหารเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อต้นคอหลังและหน้าท้อง 

3.ควบคุมน้ำหนักตัว เพื่อลดแรงกดทับที่หมอนรองกระดูก 

4.ควรงดสูบบุหรี่ เนื่องจากบุหรี่จะทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงหมอนรองกระดูกลดลง และเกิดการเสื่อมเร็วขึ้น 

ภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทเกิดจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ไม่ถูกต้อง ทั้งการยกของหนัก การนั่ง และอาจเกิดจากได้รับแรงกระแทกบริเวณสันหลัง ซึ่งปัจจุบันวัยหนุ่มสาวเริ่มเป็นกันมากขึ้น ดังนั้นหากมีอาการชา หรือปวดตามคอ ไหล ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที