การเรียนรู้หลักธรรมของศาสนาพุทธนั้นมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง ซึ่งในปัจจุบันนั้นมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่เรียกว่า “ธรรมศึกษา” เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเรียนเพื่อให้เข้าใจหลักธรรมที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตมากขึ้น
ธรรมศึกษา คืออะไร?
ธรรมศึกษา คือ การเรียนเกี่ยวกับหลักธรรมของชีวิต การสอบธรรมสนามหลวงของคฤหัสถ์ หรือของบุคคลทั่วไป ที่ไม่ได้เป็นบรรพชิต โดยธรรมศึกษาจะเป็นหลักสูตรนักธรรมของฆราวาส ซึ่งในปัจจุบันนั้นจะมีการเรียนการสอนทั้งหมดด้วยกัน 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนที่ได้รวบรวมในเรื่องของความรู้เกี่ยวกับหลักธรรม ให้ผู้เรียนได้ศึกษาเกี่ยวกับหลักธรรมเป็นขั้นตอน ซึ่งจะเป็นการศึกษาตั้งแต่ระดับพื้นฐาน ไปจนถึงระดับสูง โดยที่คณะสงฆ์ได้ใช้เป็นหลักสูตรให้พระภิกษุและสามเณรได้ศึกษากัน และได้มีการขยายให้พุทธศาสนิกชน และนักเรียนตามโรงเรียนบต่างๆสามารถที่จะศึกษาได้ สำหรับผู้เรียนรู้ก็จะได้เข้าใจในธรรมะ เพื่อใช้ในการเป็นพื้นฐานสำหรับการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นและสามารถที่จะนำหลักธรรมมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้
ประวัติความเป็นมาของธรรมศึกษา
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ริเริ่มให้มีการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม หรือที่เรียกว่า นักธรรม ขึ้นมา ซึ่งเป็นการเรียนการสอนพระธรรมวินัยในแบบภาษาไทย โดยจะทำให้พระภิกษุและสามเณรสามารถที่จะศึกษาพระธรรมวินัยได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งในเวลาต่อมา พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ได้เล็งเห็นว่าการศึกษานักธรรมนั้นมีประโยชน์แก่ฆราวาสด้วย ดังนั้นจึงทรงตั้งหลักสูตรสำหรับฆราวาสขึ้นมา เรียกว่า ธรรมศึกษา ซึ่งมีเนื้อหาการเรียนการสอนเหมือนกับหลักสูตรนักธรรมสำหรับภิกษุและสามเณร แต่จะแตกต่างกันตรงที่นักธรรมจะเรียนรู้ศีล 227 ข้อ แต่ธรรมศึกษาจะเรียนรู้ศีล 5 และศีล 8 แทน
วัตถุประสงค์ของการเรียนรู้
- เรียนเพื่อให้เข้าใจในพระพุทธศาสนาและหลักธรรมคำสอนอย่างถูกต้อง
- เรียนเพื่อให้เกิดความศรัทธาและมีความสำนึกถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนา
- เรียนเพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ และให้รู้สึกซาบซึ้งถึงคุณของพระรัตนตรัย
- เรียนเพื่อให้รู้หน้าที่ชาวพุทธและสามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
- เรียนเพื่อให้เกิดทักษะในด้านความคิด สามารถที่จะปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา
แนวโน้มของการศึกษาหลักธรรมในปัจจุบัน
สำหรับในปัจจุบันนั้นพุทธศาสนิกชนยังศึกษาหลักธรรมกันน้อยอยู่ ซึ่งถ้าสถาบันการศึกษาต่างๆ นำเอาหลักธรรมเข้ามาเปิดสอนในสถาบันการศึกษาให้มากขึ้น ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อตัวนักเรียนนักศึกษา เพราะจะได้นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทางด้านจิตใจให้ดีมากยิ่งขึ้น
หลักธรรมนั้นมิได้มีแต่บรรพชิต (ภิกษุและสามเณร) เท่านั้นที่สามารถศึกษาได้ แต่ประชาชนทั่วไปก็ควรอย่างยิ่งที่จะศึกษา เพราะหลักธรรมของพระพุทธเจ้านั้นสามารถนำมาเป็นหลักคิดในการดำเนินชีวิตได้ และจะช่วยให้ผู้ได้เรียนรู้ได้รู้จักสติ การรู้จักใช้เหตุผลในการคิด และรู้จักการยับยั้งไม่ให้กระทำในเรื่องไม่ดีต่างๆได้