ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค พิธีสำคัญของราชวงศ์จักรี

วันที่ 28 ตุลาคม 2567 นี้ จะมีพิธีสำคัญคือ งานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดย “ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค” เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ซึ่งประชาชนได้เห็นความสวยงามของริ้วขบวนเรือตลอดลำน้ำเจ้าพระยา ซึ่งถือว่าเป็นพิธีที่หาดูได้ยากมาก

เกี่ยวกับ ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค  

คำว่า พยุหยาตรา (พะ-ยุ-หะ-ยาด-ตรา) หมายถึง กระบวนทัพ มีทั้งกระบวนทางบก เรียกว่า สถลมารค และ กระบวนทางน้ำ เรียกว่า ชลมารค”  นับแต่โบราณกาลการเสด็จพระราชดำเนินของพระมหากษัตริย์ไทย นอกจากการเสด็จพระราชดำเนินทางบก ที่เรียกว่า พยุหยาตราทางสถลมารค แล้ว การเสด็จพระราชดำเนินทางน้ำ คือ พยุหยาตราทางชลมารค”  

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีมาแต่โบราณ เป็นริ้วขบวนเรือพระราชพิธีที่จัดขึ้นสำหรับพระมหากษัตริย์ เสด็จพระราชดำเนินไปในการต่าง ๆ ทั้งเป็นการส่วนพระองค์และที่เป็นการพระราชพิธี  สืบทอดตั้งแต่ สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ จวบจนปัจจุบัน 

เรือสำคัญๆในพระราชพิธี 

ขบวนพยุหยาตราทางชลมารค มีการจัดเตรียมเรือพระราชพิธี ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำสำคัญ รวมทั้ง เรือพระราชพิธีอื่น ๆ เรือรูปสัตว์ เรือดั้ง เรือแซง เป็นต้น รวม 52 ลำ 

1.เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นเรือพระที่นั่งชั้นสูงสุด ซึ่งเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์ และพระบรมราชินี หัวเรือพระที่นั่งนี้มี โขนเรือ เป็นรูปหัวของ หงส์ ลำตัวเรือทอดยาวคือส่วนตัวหงส์ เรือมีความยาว 46.15 เมตร กว้าง 3.17  

2.เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์  เป็นเรือพระที่นั่งรอง ในขบวนพยุหยาตราชลมารค เรือมีความยาว 45.67 เมตร กว้าง 2.91 เมตร  

3.เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช หัวเรือจำหลักรูปพญานาค 7 เศียร เรือมีความยาว 44.85 เมตร กว้าง 2.58 เมตร  โดยปกติแล้วใช้เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปสำคัญ หรือผ้าพระกฐิน ในขบวนพยุหยาตราทางชลมารค 

4.เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 โขนเรือจำหลักรูปพระนารายณ์ 4 กร ทรงเทพศาสตรา ประทับยืนบนหลังพญาครุฑ ขนาดของเรือ มีความยาว 44.3 เมตร ความกว้าง 3.2 เมตร  

5.เรืออื่นๆ เช่น  เรืออสุรวายุภักษ์ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือครุฑเหินเห็จ เรือเอกชัยเหินหาว  

พระราชพิธีนี้เป็นพิธีที่หาดูได้ยาก และเป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีของไทยที่มียาวนาน หากมีโอกาสแนะนำให้รวมชมขบวนในวันจริงริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะทึ่งถึงความวิจิตรของงานศิลปะไทย หรือเข้าชมได้ที่พิพิธภัณฑ์เรือพระราชพิธี